ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เรื่องสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

วันที่เผยแพร่: 15 มิถุนายน 2568

หน้าปกบทความ ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เรื่องสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม


                 “มะเร็งเต้านม” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และจะมีความเสี่ยงต่อโรคเมื่ออายุมากขึ้น หากพบเจอมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก และได้รับการรักษาอย่างทันที จะมีโอกาสหายและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้มากกว่าไม่ได้รับการตรวจ 

12 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม

                 ในปัจจุบัน ยังคงหาข้อสรุปสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีหลายปัจจัยที่ยืนยันแล้วว่ามีความสัมพันธ์กับโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ได้แก่

1เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า
2เชื้อชาติ ผู้หญิงในชาติตะวันตก จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเอเชีย
3การมีบุตร และการให้นมบุตร การศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีการคลอดบุตร เลี้ยงบุตรด้วยนมของตัวเอง จะช่วยป้องกันโอกาสเกิด   มะเร็งเต้านมได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่มีบุตร เป็นหมัน กินยาคุมกำเนิด หรือไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วย   น้ำนมตัวเองนั้น จะมีความโอกาสเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
4ฮอร์โมนเพศ ประจำเดือนมาตั้งแต่ตอนอายุน้อย ๆ หรือวัยหมดประจำเดือนมาถึงช้า ทำให้ร่างกายผู้หญิงมีโอกาส สัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานขึ้น จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น
5อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสเกิดความผิดปกติของยีนในเซลล์ก็จะเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งได้ จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 45 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 1 ใน 8 ในขณะที่ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบมะเร็งเต้านมประมาณ 2 ใน 3
6ความอ้วน โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น
7หน้าอกแน่น (Dense Breasts)

การมีหน้าอกแน่น หมายถึงการมีเนื้อเยื่อและต่อมน้ำนมมากกว่าคนอื่น ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า นอกจากนี้ โครงสร้างเนื้อเยื่อที่หนาแน่น ก็ทำให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยจากการตรวจด้วยเครื่องแมมโมเกรมได้ยากขึ้น 

* การพิสูจน์ว่าหน้าอกแน่น ไม่ได้เกิดจากการทดลองสัมผัสเต้านมดูว่ากระชับไหม คนที่มีหน้าอกกระชับ ไม่ได้แปลว่าจะมีหน้าอกแน่นเสมอไป จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผ่านการทำแมมโมแกรมเพื่อดูโครงสร้างเนื้อเยื่อ และต่อมต่างๆได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

8มีประวัติของโรคและการรักษาเกี่ยวกับเต้านม หากเคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านม หรือเคยได้รับการฉายรังสีในบริเวณดังกล่าว จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้
9พันธุกรรม มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมทางครอบครัว โดยเฉพาะหากญาติที่เป็นมะเร็งชนิดนี้เป็นญาติสายตรง จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
10เป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งแล้วหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงถึง 3 – 4 เท่า ที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหนึ่ง
11เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผู้หญิงกลุ่มที่ดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม
12ควันบุหรี่ การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง) มีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านมคืออะไร?

มะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อเต้านม อาจเกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเต้านม เช่น

  • ท่อน้ำนม
  • ต่อมน้ำนม
  • เนื้อเยื่อรอบเต้านม

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย

 ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

  • ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก: ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด
  • ลดความรุนแรงของโรค: การตรวจพบในระยะเริ่มต้นช่วยลดความซับซ้อนของการรักษา เช่น การรักษาด้วยรังสีรักษาเพื่อลดขนาดของก้อน การตัดเต้านม หรือการให้เคมีบำบัดร่วมด้วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา: การรักษาในระยะแรกมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรักษาในระยะลุกลาม

 วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

  • การตรวจด้วยตนเอง (Breast Self-Examination - BSE)  ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน โดยดูความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนบริเวณเต้านม ผิวหนังเปลี่ยนแปลง หรือหัวนมผิดรูป หรือมีน้ำนมไหลออกมา ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน ในช่วงหลังหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 7-10 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ เต้านมไม่มีการคัดตึง และเกิดความผิดพลาดน้อย หากพบความผิดปกติ ดังนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • คลำเจอก้อนนูน
  • รู้สึกเจ็บ บวม แดง ร้อน
  • ลักษณะรูปทรงเต้านมผิดปกติ เปลี่ยนแปลงไป
  • ผิวของเต้านมลักษณะคล้ายเปลือกส้ม
  • มีรอยผื่นบริเวณหัวนม ซึ่งมักคิดว่าเกิดจากผื่นแพ้ เมื่อตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมอาจไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผื่นแพ้ที่เห็นนั้นเป็นรอยโรคของมะเร็งในระยะเริ่มแรกซึ่งจะรู้ผลโดยการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์เฉพาะทาง
  • มีน้ำใสๆ หรือเลือดซึมออกจากหัวนม ซึ่งเป็นอาการนำของโรคมะเร็งเต้านม แต่การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมอาจจะมองไม่เห็นเท่าการตรวจร่างกายจากแพทย์ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่พบว่ามีก้อนอยู่บริเวณขอบฐานของเต้านมซึ่งสามารถคลำได้เอง

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

            ควรเข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุน้อยกว่า 35 ปี ควรตรวจทุกๆ 1-2 ปี ทั้งนี้ การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ทำให้สามารถตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อปกติกับก้อนในเต้านมได้

การตรวจยีนพันธุกรรม

            ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าผู้อื่น เพราะมะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของยีน ซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ทั้งจากบิดาหรือมารดา เพื่อเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ หากพบความผิดปกติในพันธุกรรมก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันการเป็นมะเร็งข้างต้นได้ก่อนที่จะมีอาการ

การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

           เทคโนโลยีตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรม คือ การใช้รังสีเอกซเรย์เต้านมเพื่อค้นหาความผิดปกติ ความผิดปกติที่เห็นอาจจะเป็นลักษณะก้อน ความหนาแน่นของเต้านม การกระจัดกระจายของเนื้อเต้านมที่ผิดปกติไป หรืออาจพบหินปูนในเต้านม เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
           เนื่องจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุม และใช้ตัวรับสัญญาณภาพชนิดดิจิตอล โดยข้อมูลภาพที่ได้จะส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปปรากฏบนหน้าจอมอนิเตอร์ที่มีความละเอียดสูง จึงช่วยให้แพทย์ที่ทำการวินิจฉัยทราบผลได้ในทันทีโดยไม่ต้องรออ่านผล และวินิจฉัยจากฟิล์มเหมือนในอดีต ดังนั้น เครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอลจึงสามารถตรวจหาความผิดปกติได้ดีกว่าการตรวจแบบเอกซเรย์ทั่วไป

4 ข้อดีของดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

  • คุณภาพของภาพเอกซเรย์ ภาพคมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้ชัดเจน
  • ความแม่นยำ ผลถูกต้อง และแม่นยำได้สูงถึง 90%
  • ความปลอดภัย ถูกออกแบบเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับปริมาณรังสีต่ำ (จากการศึกษาเปรียบเทียบกับ Mammogram ระบบเก่า พบว่าการรับรังสีของผู้รับบริการด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม สามารถลดปริมาณรังสีลงจากเดิมประมาณ 30 – 60%)
  • ระยะเวลาในการตรวจรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการตรวจเหลือเพียง 2 – 3 วินาที เนื่องจากมีการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม ทำให้สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้

Digital Mammogram ตรวจง่าย ไม่ยุ่งยาก

           เมื่อต้องเข้ารับการตรวจ แนะนำให้ตรวจในช่วงหลังหมดประจำเดือน ไม่ควรนัดตรวจแมมโมแกรมในช่วงให้นมบุตร หรือเมื่อท่านรู้สึกคัด ตึงเต้านม หรือในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เจ็บระหว่างตรวจมากกว่าช่วงเวลาอื่น นอกจากนี้ ในวันที่ตรวจไม่ควรทาแป้ง สารระงับกลิ่นกาย หรือโลชั่น บริเวณรักแร้ หรือทรวงอก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดจุดบนภาพ ทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อ

แจ้งผลการตรวจโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

           รังสีแพทย์ จะทำการอ่านผลการตรวจให้แพทย์เจ้าของไข้ จากนั้นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะเป็นผู้สรุปผลการตรวจให้ท่านทราบ หากมีความผิดปกติศัลยแพทย์จะสามารถให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแนวทางการรักษาในลำดับต่อไป สำหรับท่านใดที่เคยตรวจแมมโมแกรม หรือดิจิตอลแมมโมแกรมมาแล้ว ควรนำภาพ และผลการตรวจเดิมมาด้วย เพื่อให้รังสีแพทย์ใช้เปรียบเทียบกับการตรวจในครั้งปัจจุบัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?

  • ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี
  • ผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มตรวจในอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่พบความผิดปกติ เช่น มีก้อนในเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

การป้องกันมะเร็งเต้านมในชีวิตประจำวัน

  1.  ตรวจเช็กมะเร็งเต้านมทุกปื
  2. คุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
  3. เลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์
  4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
  5. เสริมวิตามินลดเสี่ยง

มะเร็งเต้านม มีกี่ระยะ อะไรบ้าง

           แรกเริ่มนั้น มะเร็งเต้านม แบ่งเป็น 4 ระยะ  ดังนี้ 
  • ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักพบโรคในช่วงอายุ 50-60 ปี โดยแตกต่างกันตามเชื้อชาติ สำหรับข้อมูลในประเทศไทยพบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี โดยร้อยละ 80 เป็นมะเร็งในระยะแรก (ระยะที่ 1-3) ร้อยละ 10 เป็นมะเร็งในระยะกระจาย (ระยะที่ 4) แต่การตรวจคัดกรองที่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พบมะเร็งเต้านมระยะแรกมากขึ้น ในประเทศไทย

ในยุคนี้ผู้หญิงมีการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมบ่อยขึ้นและตรวจเป็นประจำ จึงเพิ่มระยะที่ 0 เข้าไปด้วย รวมทั้งสิ้นคือ 5 ระยะ

  1. ระยะที่ 0 : เซลล์มะเร็งเพิ่งก่อตัว ยังอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ณ จุดที่ก่อตัว และยังไม่แบ่งตัวลุกลามสู่ภายนอกพื้นที่
  2. ระยะที่ 1 : มะเร็งเริ่มลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อตรงจุดที่ก่อตัว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
  3. ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งจะมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร (ไม่เกิน 5 เซนติเมตร) โดยจะยังไม่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร อาจสามารถแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้
  4. ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตรขึ้นไป แล้วอาจเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จนทั่ว
  5. ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น ในระยะแรก ๆ เซลล์มะเร็งพึ่งจะก่อตัวขึ้น ยังไม่ทันลุกลามออกไปจากจุดที่ก่อตัว จึงยังสามารถรักษาได้ง่าย และโอกาสหายขาดสูงมาก

แนวทางป้องกัน มะเร็งเต้านม

           มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ การตรวจร่างกายอาจยังตรวจไม่พบ เนื่องจากรอยโรคเล็กมากจึงเปรียบเสมือน “มฤตยูเงียบ” การตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคลำเต้านมอย่างถูกวิธี ไปจนถึงการเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound)  จึงมีความสำคัญ

แพทย์มีแนวทางวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอย่างไร

           หากเราคลำพบก้อนผิดปกติบริเวณเต้านมแล้วมาพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามประวัติ  ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านม คลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ และส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ในกรณีที่มีความผิดปกติแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็ม (Needle biopsy) โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เจ็บตัวน้อย และได้ผลการวินิจฉัยที่ตรงจุด การเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านมเป็นเทคนิคการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัยถึงเซลล์ว่าใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่

ตรวจก่อน รู้ก่อน แก้ไขทัน

  • การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ช่วงอายุ: 20 ปีขึ้นไป ความถี่: เดือนละครั้ง
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ ช่วงอายุ: น้อยกว่า35 ปี ความถี่: 1-2 ปี ต่อครั้ง
  • การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม ช่วงอายุ: 40 ปีขึ้นไป ความถี่: 1-2 ปี ต่อครั้ง

คำถามที่พบบ่อย

 Q1: ทำแมมโมแกรม เจ็บมากมั้ย ถ้ามีประจำเดือนอยู่ตรวจได้หรือเปล่า?

  • คำตอบ: ความเจ็บในการทำแมมโมแกรมขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของเนื้อเต้านม รวมถึงช่วงเวลาที่ตรวจ หากกำลังมีประจำเดือนสามารถรับการตรวจได้ตามปกติ ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย เพียงแต่ช่วงใกล้มีประจำเดือนหรือกำลังมีประจำเดือน อาจรู้สึกคัดตึงเต้านมตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บกว่าปกติขณะทำการตรวจ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคือ 7-14 วันหลังการมีประจำเดือน 

Q2: รังสีจากการทำแมมโมแกรมมีอันตรายหรือไม่?

  • คำตอบ: การตรวจไม่มีอันตรายในระยะยาว โดยปริมาณรังสีที่ได้รับมีค่าต่ำมาก ซึ่งในการทำแมมโมแกรม 1 ครั้ง เทียบเท่ากับรังสีที่เราได้รับในชีวิตประจำวันประมาณ 7 สัปดาห์ ปกติรังสีมีอยู่รอบตัวเรา ทั้งในอากาศ น้ำ แสงแดด ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์หรือมีความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ แพทย์จะไม่แนะนำให้ตรวจ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ แต่หากพบความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้แทน

Q3: ตรวจแมมโมแกรม ต่างกับอัลตราซาวด์อย่างไร?

  • คำตอบ: การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจโดยใช้รังสี สามารถเห็นหินปูนขนาดเล็กที่ผิดปกติในเต้านม  ซึ่งอาจไม่พบจากการอัลตราซาวด์ ส่วนการตรวจอัลตราซาวด์เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ และบอกได้ว่าก้อนเนื้อนั้นมีอันตรายหรือไม่

Q4: ทำแมมโมแกรม ใช้เวลานานเพียงใด?

  • คำตอบ: ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยทำด้านซ้ายและขวา ด้านละ 2 ครั้ง โดยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมจะบีบเต้านมด้านบน-ล่าง และด้านข้างของเต้านม รวมทั้งหมด 4 ภาพเพื่อให้เห็นรายละเอียดภายในเนื้อเต้านม

Q4: เสริมหน้าอกมา ทำแมมโมแกรมได้หรือเปล่า?

  • คำตอบ: สามารถทำแมมโมแกรมได้ตามปกติ โดยแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่รังสีก่อนตรวจ เพื่อใช้เทคนิคในการดูเนื้อเยื่อเต้านมมากขึ้นจากปกติ ส่วนผู้ที่กังวลว่าเครื่องจะกดเต้านมจนทำให้ซิลิโคนแตกหรือไม่? ในความเป็นจริงแล้วซิลิโคนมีความยืดหยุ่นมากและจะไม่แตกจากการทำแมมโมแกรม
แพทย์ประจำแผนก ตรวจสุขภาพ
พญ.ญาณิศา สุริยะบรรเทิง
พญ.ญาณิศา สุริยะบรรเทิง
สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
นพ.นฤพนธ์ มนต์ไตรเวศย์
นพ.นฤพนธ์ มนต์ไตรเวศย์
สาขา อายุรศาสตร์
นพ.นรินทร สุรสินธน
นพ.นรินทร สุรสินธน
นพ.ชณัฐ ปิยพงศ์โกวิท
นพ.ชณัฐ ปิยพงศ์โกวิท
พญ.คัทลียา จิรวิมุต
พญ.คัทลียา จิรวิมุต
นพ.นิธิวัฒน์ ศรีกาญจนวัชร
นพ.นิธิวัฒน์ ศรีกาญจนวัชร

บทความทางการแพทย์

Title Line
หน้าปกบทความนอนไม่หลับแค่เครียด หรือร่างกายกำลังรวน
ตรวจสุขภาพ
นอนไม่หลับ...แค่เครียด หรือร่างกายกำลังรวน

อาการนอนไม่หลับอาจไม่ใช่แค่ความเครียด แต่อาจเป็นสัญญาณของภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ลำไส้เสียสมดุล หรือระบบประสาทอักเสบ รู้เท่าทันแนวทางฟื้นฟูการนอนในมุมมองอายุรวัฒน์

สาขากรุงเทพมหานคร ราชพฤกษ์
หน้าปกบทความ 4 ฮอร์โมนสำคัญที่เสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด
ตรวจสุขภาพ
4 ฮอร์โมนสำคัญที่เสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

รู้จัก 4 ฮอร์โมนที่ลดลงตามวัย เช่น เมลาโทนิน เทสโทสเตอโรน เอสโตรเจน และฮอร์โมนการเจริญเติบโต ที่มีผลต่อการนอน ความแข็งแรง และสุขภาพโดยรวม

สาขากรุงเทพมหานคร ราชพฤกษ์
หน้าปกบทความ การอักเสบเรื้อรัง จุดเริ่มต้นเงียบ ๆ ของโรคมะเร็งที่หลายคนไม่รู้ตัว
ตรวจสุขภาพ
การอักเสบเรื้อรัง จุดเริ่มต้นเงียบ ๆ ของโรคมะเร็งที่หลายคนไม่รู้ตัว

การอักเสบเรื้อรังอาจเป็นต้นตอสำคัญของโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง รู้ทันกระบวนการอักเสบในร่างกาย ปัจจัยเสี่ยง และวิธีลดความเสี่ยงก่อนสายเกินไป

สาขากรุงเทพมหานคร ราชพฤกษ์
facebook messenger iconline icon
สาขากรุงเทพมหานคร ราชพฤกษ์